เตรียมงานประชุมวิชาการและนิทรรศการ “ทรัพยากรไทย : หวนดูทรัพย์สิ่งสินตน” ปี 2558

เผยแพร่เมื่อ: 14 ม.ค. 2558 ข่าวประชาสัมพันธ์/ข่าวทั่วไป




คณะอนุกรรมการฝ่ายปฏิคมและต้อนรับ
งานประชุมวิชาการและนิทรรศการ ทรัพยากรไทย : หวนดูทรัพย์สิ่งสินตน   ซึ่งมี นายพรชัย จุฑามาศ  รองผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) พร้อมคณะที่ปรึกษา    รศ.ดร.พินิจ หวังสมนึก รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะวิทยาศาสตร์ ประธานคณะอนุกรรมการ  รศ.ดร.สุพรรณี อึ้งปัญสัตวงศ์ รองประธานคณะอนุกรรมการ      ผศ.ดร.เพ็ญประภา เพชระบูรณิน ผู้จัดการสำนักงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ได้ประชุมหารือร่วมกับคณะอนุกรรมการ เมื่อวันที่  9 มกราคม 2558  ณ ห้องประชุมสารสิน อาคารแก่นกัลปพฤกษ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  เพื่อเตรียมความพร้อมในฝ่ายฯ สำหรับงานประชุมวิชาการและนิทรรศการฯ ที่จะจัดขึ้นในเดือนธันวาคม 2558

 

มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการและนิทรรศการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ครั้งที่ 8 ประจำปี 2558  ชื่องาน  ทรัพยากรไทย : หวนดูทรัพย์สิ่งสินตน ระหว่างวันที่ 14-20 ธันวาคม 2558  ณ บริเวณอาคารพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา    บริเวณริมบึงสีฐาน 2 ฝั่ง   หอศิลปวัฒนธรรม  และศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น    เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี   ที่ทรงสืบสานพระราชปณิธานในงานอนุรักษ์ทรัพยากรของประเทศ  จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว     เพื่อนำเสนอผลงานของ อพ.สธ. และหน่วยงานที่ร่วมสนองพระราชดำริที่ดำเนินงานมา 23  ปี  และเพื่อให้เยาวชน ประชาชน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน  และผู้กำหนดนโยบาย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของความหลากหลายของทรัพยากรไทย  เห็นความสำคัญของทรัพยากรท้องถิ่นจนเกิดความรักความหวงแหนต่อทรัพยากรที่มี


ภายในงาน จะมีทั้งการประชุมวิชาการระดับชาติ  อาทิ การประชุมวิชาการของชมรมคณะปฏิบัติงานวิทยาการ อพ.สธ. ครั้งที่ 7 จำนวน 3 วัน   การประชุมวิชาการของสมาชิกสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน   เวทีเสวนาฐานปราชญ์ชาวบ้านและภูมิปัญญาท้องถิ่น   และการจัดนิทรรศการของหน่วยงานต่างๆ  ที่ร่วมสนองพระราชดำริ  อันได้แก่ หน่วยงานที่ร่วมสนองพระราชดำริในโครงการ อพ.สธ. กว่า 130 หน่วยงาน    สมาชิกสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน กว่า 220 โรงเรียน  โครงการ อพ.สธ.และหน่วยงานพิเศษอื่นๆ ประมาณ 10 แห่ง     นิทรรศการหน่วยงานท้องถิ่นหรือปราชญ์ชาวบ้าน อบต. อบจ. ประมาณ 50 แห่ง    นอกจากนี้ ยังจะมีเวทีการแสดงกลางแจ้งด้านศิลปวัฒนธรรมจากนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น  และเปิดให้โรงเรียนทั้งในจังหวัดขอนแก่น และโรงเรียนสมาชิกสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน  หน่วยงานต่างๆ ที่สนใจ ร่วมแสดงบนเวทีตลอดวัน    นอกจากนี้ยังจะมีร้านจัดแสดงและจำหน่ายสินค้า
OTOP และของที่ระลึกต่างๆ  การจัดงานครั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงาน   ตลอดระยะเวลาจัดงาน อย่างน้อย 20,000 คน มีหน่วยงานทุกภาคส่วน และสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน เข้าร่วมจัดงานอย่างน้อย 300 หน่วยงาน

 

ในส่วนของมหาวิทยาลัยขอนแก่น  จะมีการจัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสมหามงคลทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา    และการจัดแสดงตัวอย่างพืชท้องถิ่น  พืชสมุนไพร   พืชหายากที่มีลักษณะเฉพาะถิ่น   กล้วยไม้  แมลง  จุลินทรีย์   ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการวิจัยและการใช้ประโยชน์ในพื้นที่สนองพระราชดำริโครงการ อพ.สธ.    ภายใน “อาคารพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา” (National History Museum) มหาวิทยาลัยขอนแก่น    ซึ่งจัดสร้างเพื่อเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้ทรงก่อตั้งโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช เพื่อเป็นศูนย์กลางแหล่งเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเยาวชน  นักเรียน นักศึกษา  และผู้สนใจทั่วไป ในเรื่องความหลากหลายในธรรมชาติ ระบบนิเวศ  โดยเฉพาะทางด้านธรรมชาติวิทยาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ   เพื่อการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นการปลูกฝังกระบวนการคิดทางด้านวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน  อันเป็นการยกระดับความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ของคนในท้องถิ่นเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน    รวมทั้งใช้เป็นสถานที่ในการนำเสนอผลงานวิจัยด้านธรรมชาติวิทยาของบุคลากรในมหาวิทยาลัยขอนแก่น และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

 

สำหรับวันแรกของการประชุมวิชาการ  คือวันที่ 14 ธันวาคม 2558  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานเปิดงานประชุมดังกล่าว พร้อมทั้งทรงเปิดอาคาร “อาคารพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา”   มหาวิทยาลัยขอนแก่น  เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดประชุมวิชาการ  และเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ ที่จะก่อเกิดประโยชน์แก่ประชาชนต่อไป